อัมสเตอร์ดัม, 7 กรกฎาคม 2567 /PRNewswire/ — การศึกษานำร่องซึ่งนำเสนอในวันนี้ที่การประชุมประจำปีของ ESHRE ครั้งที่ 40 ในอัมสเตอร์ดัม ได้เผยให้เห็นว่าการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ก่อนการเก็บไข่ (oocyte) ระหว่างกระบวนการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ลดโอกาสในการคลอดมีชีวิตลงเกือบ 40%
การศึกษาชิ้นนี้วิเคราะห์การรับสัมผัสฝุ่น PM10 ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนการเก็บไข่ โดยพบว่าโอกาสในการคลอดมีชีวิตลดลงถึง 38% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างควอร์ไทล์สูงสุดของการรับสัมผัสกับควอร์ไทล์ต่ำที่สุด
การศึกษาชิ้นนี้จัดทำตลอดระยะเวลาแปดปีในเพิร์ท ออสเตรเลีย โดยได้วิเคราะห์การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งจำนวน 3,659 ครั้งจากผู้ป่วย 1,836 คน ทั้งนี้ การศึกษาได้ตรวจสอบความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในช่วงเวลาที่รับสัมผัสก่อนการเก็บไข่สี่ระยะ (24 ชั่วโมง, 2 สัปดาห์, 4 สัปดาห์, และ 3 เดือน) พร้อมโมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อนำการรับสัมผัสร่วมไปพิจารณา
นอกจากนี้ การสัมผัส PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลา 3 เดือนก่อนการเก็บไข่ยังมีความเชื่อมโยงกับโอกาสของการคลอดมีชีวิตที่ลดลง จาก 0.90 ในควอไทล์ที่สองเหลือ 0.66 ในควอไทล์ที่สี่
สิ่งที่สำคัญ คือ ยังคงสามารถสังเกตพบผลกระทบเชิงลบของมลพิษทางอากาศแม้จะมีคุณภาพอากาศโดยรวมที่ดีเยี่ยมในช่วงระยะเวลาที่ทำการศึกษา โดยมีระดับ PM10 และ PM2.5 ที่เกินแนวทางของ WHO เพียง 0.4% และ 4.5% ตามลำดับ ในวันที่ทำการศึกษา
ดร. Sebastian Leathersich ผู้นิพนธ์หลักของการศึกษาชิ้นนี้อธิบายว่า "นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่ใช้รอบการย้ายตัวอ่อนแช่แข็งเพื่อแยกการวิเคราะห์ผลกระทบของการรับสัมผัสมลพิษ ในระหว่างการพัฒนาไข่และในราวช่วงเวลาของการย้ายตัวอ่อนและการตั้งครรภ์ในระยะแรก ดังนั้น เราจึงสามารถประเมินได้ว่ามลพิษมีผลกระทบต่อไข่เอง หรือมีผลกระทบต่อระยะแรกของการตั้งครรภ์"
ดร. Leathersich กล่าวต่อว่า "แม้ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศดีเยี่ยม แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์เชิงลบอย่างสูงระหว่างปริมาณของมลพิษทางอากาศและอัตราการคลอดมีชีวิตในรอบการย้ายตัวอ่อนแช่แข็ง ในด้านสาธารณสุข ต้องให้ความสำคัญในลำดับสูงกับการลดการรับสัมผัสมลพิษให้น้อยที่สุด"
ศาสตราจารย์ ดร. Anis Feki ประธานผู้รับเลือกของ ESHRE ให้ความเห็นว่า "การศึกษาที่สำคัญนี้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างมลพิษทางอากาศและอัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ที่ลดลง โดยมีอัตราคลอดมีชีวิตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดซึ่งเชื่อมโยงกับการรับสัมผัสฝุ่นละอองที่สูงขึ้นก่อนการเก็บไข่ การค้นพบเหล่านี้เน้นถึงความจำเป็นที่ต้องให้ความเอาใจใส่ต่อปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการดูแลสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์"
บทคัดย่อของการศึกษานี้จะได้รับการตีพิมพ์ในวันนี้ในวารสาร Human Reproduction ซึ่งเป็นหนึ่งในวารสารชั้นนำของโลกด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business News.
Discover more from ข่าวธุรกิจประเทศไทย
Subscribe to get the latest posts sent to your email.