ประเด็นสำคัญ
- การตรวจเลือดที่ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในสมองที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างแม่นยำและเชื่อถือได้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสู่การตรวจจับและวินิจฉัยที่ง่ายขึ้น แม่นยำมากขึ้น และเร็วขึ้น ซึ่งอาจมาแทนที่วิธีการปัจจุบันที่มีราคาแพง รุกล้ำร่างกาย และไม่สะดวกในการเข้าถึง
- การตรวจเลือดมีความแม่นยำประมาณ 90% ในการระบุโรคอัลไซเมอร์ในผู้ป่วยที่มีอาการทางความคิดความจำที่พบในการรักษาระดับปฐมภูมิและคลินิกดูแลความจำเฉพาะทาง โดยในงานวิจัยนี้ แพทย์ปฐมภูมิมีความแม่นยำ 63% และแพทย์เฉพาะทางมีความแม่นยำ 73% เมื่อไม่ใช้การตรวจเลือด
- เมื่อได้รับการยืนยันแล้ว การตรวจเลือดอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับสมัครผู้เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกเพื่อวิจัยโรคอัลไซเมอร์ และลดระยะเวลารอคอยในการประเมินโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมาก
ฟิลาเดลเฟีย, 29 กรกฎาคม 2567 /PRNewswire/ — ผลการวิจัยครั้งใหม่ที่รายงานในงานประชุมนานาชาติของสมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association International Conference® หรือ AAIC®) ประจำปี 2567 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย และออนไลน์ เปิดเผยว่า ขณะที่การตรวจเลือดที่มีความแม่นยำสูงเพื่อหาโรคอัลไซเมอร์กำลังจะถูกนำมาใช้ในคลินิกแพทย์ งานวิจัยใหม่ชี้ว่าการตรวจนี้อาจปฏิวัติความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค และเปิดทางสู่การเข้าร่วมงานวิจัยและการรักษาที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น
รายงานข้อเท็จจริงและตัวเลขเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ปี 2567 (2024 Alzheimer’s Disease Facts and Figures) เปิดเผยว่า ภาวะสมองเสื่อมมักไม่ได้รับการวินิจฉัยเท่าที่ควร และแม้จะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ผู้ป่วยหลายคนก็ยังไม่ทราบหรือไม่เข้าใจผลการวินิจฉัยของตน การตรวจเลือดหาโรคอัลไซเมอร์กำลังแสดงให้เห็นในงานวิจัยว่า สิ่งนี้เพิ่มความแม่นยำและความมั่นใจในการวินิจฉัยของแพทย์ได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเป็นพื้นฐานให้สื่อสารได้ดีขึ้น
การตรวจเลือดที่มีแนวโน้มสดใสที่สุดในการหาการเปลี่ยนแปลงในสมองที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์นั้น คือการตรวจโปรตีน phosphorylated tau (p-tau) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคอัลไซเมอร์ที่สามารถสะสมก่อนที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการบกพร่องทางการรู้คิด การเพิ่มขึ้นของตัวบ่งชี้เฉพาะ p-tau217 เมื่อเวลาผ่านไปนั้นมีความสัมพันธ์กับความเสื่อมถอยทางการรู้คิดและการฝ่อของสมอง การตรวจ p-tau217 ยังสามารถทำนายความเป็นไปได้ของการสะสมของกลุ่มแผ่นอะไมลอยด์ในสมอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคอัลไซเมอร์ และเป็นเป้าหมายของการรักษาที่ได้รับการอนุมัติล่าสุด
"การตรวจเลือดนั้น เมื่อ (ก) ได้รับการยืนยันในประชากรกลุ่มใหญ่ว่ามีความแม่นยำมากกว่า 90% และ (ข) มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการปรับปรุง และอาจถึงขั้นปฏิวัติกระบวนการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการทดลองทางคลินิก รวมถึงขั้นตอนการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์" ดร. Maria C. Carrillo ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และผู้นำด้านการแพทย์ของสมาคมอัลไซเมอร์ กล่าว "แม้ในขณะนี้ แพทย์ในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิควรใช้การทดสอบทางความคิดความจำร่วมกับการตรวจเลือดหรือตัวบ่งชี้ทางชีวภาพอื่น ๆ ในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ แต่การตรวจเลือดมีศักยภาพที่จะเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า"
เมื่อพิจารณาใช้การตรวจเลือด ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือดเพื่อหาโรคอัลไซเมอร์ของสมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association Appropriate Use Recommendations for Blood Biomarkers in Alzheimer’s Disease) อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยแนะนำบุคลากรทางการแพทย์ในการนำการตรวจเลือดหาโรคอัลไซเมอร์มาใช้ในการปฏิบัติงานทางคลินิก ทางสมาคมฯ ได้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และกำลังเป็นผู้นำในการจัดทำแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือดเพื่อหาโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งจะมีการเปิดตัวครั้งแรกในงาน AAIC ประจำปี 2567
การตรวจเลือดช่วยปรับปรุงการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ทั้งในระดับปฐมภูมิและโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
งานวิจัยขนาดใหญ่ที่เพิ่งเปิดเผยครั้งแรกในงาน AAIC ประจำปี 2567 แสดงให้เห็นว่า การตรวจเลือดสามารถตรวจจับโรคอัลไซเมอร์ได้แม่นยำกว่าทั้งแพทย์ปฐมภูมิและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้วิธีวินิจฉัยแบบดั้งเดิม
ในการศึกษานี้ ผู้ป่วย 1,213 คนได้รับการตรวจด้วยวิธี PrecivityAD2 (เรียกว่า "APS2") ซึ่งใช้การผสมผสานระหว่าง (1) อัตราส่วน plasma phosphorylated-tau217 เทียบกับที่ไม่ใช่ phosphorylated-tau217 (เรียกว่า %p-tau217) และ (2) อัตราส่วนของอะไมลอยด์สองชนิด (Aβ42/Aβ40) ผลปรากฏว่าวิธีนี้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการวินิจฉัยโดยแพทย์อย่างมีนัยสำคัญ
- ในกลุ่มผู้ป่วย 698 คนที่เข้ารับการตรวจที่คลินิกความจำ APS2 มีความแม่นยำประมาณ 90% ในการระบุโรคอัลไซเมอร์ ในขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความแม่นยำ 73%
- ในกลุ่มผู้ป่วย 515 คนที่เข้ารับการตรวจในระดับปฐมภูมิ APS2 ก็มีความแม่นยำประมาณ 90% เช่นกัน ส่วนแพทย์ปฐมภูมิมีความแม่นยำ 63% ในการระบุโรคอัลไซเมอร์
นักวิจัยพบว่าการตรวจ APS2 มีความแม่นยำสูงแม้ในผู้ป่วยที่มีโรคร่วม เช่น โรคไต ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยสูงอายุที่มาพบแพทย์ปฐมภูมิ
"ที่น่าสนใจคือ ผลลัพธ์เหล่านี้ได้มาจากตัวอย่างเลือดที่ส่งไปวิเคราะห์ทุกสองสัปดาห์จากหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งคล้ายคลึงกับการปฏิบัติทางคลินิกทั่วไป" ดร.นพ. Sebastian Palmqvist หัวหน้าคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัย Lund University ประเทศสวีเดน กล่าว "ผลลัพธ์นี้น่าประทับใจเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาว่าผู้สูงอายุที่มารับบริการในระดับปฐมภูมิมักมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลหรือทำให้ระดับของ p-tau217 แปรปรวนได้"
"เราถือว่านี่เป็นก้าวสำคัญสู่การนำการตรวจเลือดหาโรคอัลไซเมอร์ไปใช้ในทางคลินิกทั่วโลก" ดร.นพ. Oskar Hansson ผู้นิพนธ์หลัก จากมหาวิทยาลัย Lund University เช่นกัน กล่าวเสริม "สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ เพื่อให้วินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าจะนำการตรวจเลือดหาโรคอัลไซเมอร์มาใช้ในทางคลินิกอย่างไร โดยควรเริ่มนำมาใช้ในการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญก่อน แล้วจึงขยายไปสู่ระดับปฐมภูมิ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ"
งานวิจัยที่รายงานในการประชุม AAIC นี้ได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากสมาคมอัลไซเมอร์ และได้รับการตีพิมพ์พร้อมกันในวารสาร Journal of the American Medical Association
งานวิจัยชี้ การตรวจเลือดอาจช่วยคัดกรองผู้ที่ยังไม่มีอาการทางสมองเพื่อเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกได้
การนำผู้ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์มารวมเข้าในการทดลองทางคลินิก อาจช่วยค้นพบวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่อาการยังน้อยหรือยังไม่ปรากฏได้ โดยงานวิจัยที่นำเสนอในงาน AAIC ประจำปี 2567 พบว่า การตรวจเลือดหา p-tau217 อาจเป็นเครื่องมือคัดกรองที่ง่ายและแม่นยำในการระบุผู้ที่ยังไม่มีอาการทางสมอง แต่อาจมีการสะสมของกลุ่มแผ่น amyloid-beta ในสมองแล้ว
นักวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างจากผู้เข้าร่วมที่ยังไม่มีอาการทางสมอง 2,718 ราย จากการศึกษา 10 โครงการ โดยมีข้อมูลการตรวจ plasma p-tau217 และการตรวจภาพ amyloid-beta PET หรือตัวอย่าง CSF ผลพบว่า plasma p-tau217 สามารถทำนาย (ด้วยช่วง 79-86%) ความเป็นไปได้ที่คนที่ยังไม่มีอาการทางสมองจะมีผลบวกต่อพยาธิสภาพของ amyloid-beta จากการตรวจ PET หรือตัวบ่งชี้ทางชีวภาพใน CSF ได้ โดยการเพิ่มผลจากการตรวจ CSF หรือ PET หา amyloid beta หลังจากได้ผลบวกจากการตรวจเลือดนั้น จะช่วยเพิ่มค่าทำนายผลบวกให้สูงถึง 90% หรือมากกว่า ซึ่งเพิ่มความมั่นใจในการประเมินการมีอยู่ของอะไมลอยด์ในสมองโดยใช้การตรวจ plasma p-tau217
"หากตัวเลขเหล่านี้คงที่และได้รับการยืนยันซ้ำโดยห้องปฏิบัติการอิสระอื่น ๆ วิธีนี้อาจช่วยลดความจำเป็นในการเจาะน้ำไขสันหลังและการตรวจ PET เพื่อวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ลงได้ถึง 80 หรือแม้แต่ 90%" ดร. Gemma Salvadó ผู้นำการศึกษาและนักวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัย Lund University กล่าว "ผลการวิจัยของเราสนับสนุนว่า การพบ plasma p-tau217 เป็นบวกเพียงอย่างเดียว อาจเพียงพอในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมที่ยังไม่มีอาการทางสมองแต่มีอะไมลอยด์เป็นบวก สำหรับการทดลองทางคลินิกหลาย ๆ โครงการ"
การตรวจเลือดอาจลดระยะเวลารอการวินิจฉัยและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมาก
การรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ได้รับการอนุมัตินั้น มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยจากโรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น และต้องมีการยืนยันการมีอยู่ของ amyloid-beta ในสมอง ดังนั้น การสำรวจหาผู้ที่อาจได้รับประโยชน์จากการรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัจจุบัน การตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์อย่างครอบคลุมมักมีระยะเวลารอคอยนาน เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์มีจำนวนจำกัด และการเข้าถึงการตรวจ PET หรือความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ CSF ยังไม่เท่าเทียมกัน
งานวิจัยที่นำเสนอในงาน AAIC ประจำปี 2567 ชี้ว่า การใช้การตรวจเลือดที่มีประสิทธิภาพสูงในระดับปฐมภูมิอาจช่วยหาผู้ที่มีแนวโน้มป่วยเป็นอัลไซเมอร์ได้เร็วขึ้นมาก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาได้ว่าพวกเขามีคุณสมบัติเหมาะสมกับการรักษาแบบใหม่หรือไม่
นักวิจัยใช้แบบจำลองการคาดการณ์ที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อทำนายระยะเวลารอคอยสำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการรักษา โดยคำนึงถึงทั้งจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์ที่มีอยู่จำกัดและประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น แบบจำลองนี้รวมถึงการคาดการณ์ประชากรสหรัฐฯ อายุ 55 ปีขึ้นไปตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2575 และเปรียบเทียบสองสถานการณ์ด้วยกัน สถานการณ์แรกคือแพทย์ปฐมภูมิจะตัดสินใจว่า จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์โดยอิงจากผลการทดสอบความคิดความจำอย่างสั้นหรือไม่ ส่วนสถานการณ์ที่สองคือจะพิจารณาผลการตรวจเลือดประสิทธิภาพสูงด้วย โดยสันนิษฐานว่าจะมีการตรวจเลือดให้กับผู้ที่มีผลเป็นบวกต่อภาวะบกพร่องทางการรู้คิดระยะแรกในการดูแลระดับปฐมภูมิ และการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญจะอิงตามผลการตรวจนี้
แบบจำลองชี้ว่า ภายในปี 2576 ผู้คนจะต้องรอเฉลี่ยเกือบ 6 ปี (70 เดือน) กว่าจะทราบว่าพวกเขามีคุณสมบัติเหมาะสมกับการรักษาอัลไซเมอร์แบบใหม่หรือไม่ หากแพทย์ปฐมภูมิใช้เพียงแค่การประเมินความคิดความจำอย่างสั้นในการส่งต่อ แต่หากมีการใช้การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคอัลไซเมอร์ออก ระยะเวลารอเฉลี่ยจะลดลงเหลือเพียง 13 เดือนสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เนื่องจากจะมีผู้ป่วยที่ต้องพบผู้เชี่ยวชาญน้อยลงมาก นักวิจัยยังพบว่า หากมีการใช้ทั้งการตรวจเลือดและการประเมินความคิดความจำอย่างสั้นในระดับปฐมภูมิเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์แล้ว ระยะเวลารอเพื่อทราบคุณสมบัติสำหรับการรักษาแบบใหม่จะลดลงเหลือไม่ถึง 6 เดือนโดยเฉลี่ย เนื่องจากความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์ลดลง และมีศักยภาพเพิ่มขึ้นสำหรับการตรวจ CSF หรือ PET
"ผลการวิจัยของเราชี้ว่า การใช้การตรวจเลือดเพื่อหาผู้ที่อาจเป็นผู้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการรักษาผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะแรก" ดร.นพ. Soeren Mattke ผู้นำการศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์สังเกตการณ์สุขภาพสมอง มหาวิทยาลัย University of Southern California ในลอสแองเจลิส กล่าว "ปัจจุบัน ผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกำลังพลาดโอกาสในการรักษา เพราะต้องใช้เวลานานมากในการรับการวินิจฉัย โดยการตรวจเลือดที่ใช้งานง่ายอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้"
เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC®)
การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association International Conference® หรือ AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
โฮมเพจของ AAIC 2024: www.alz.org/aaic/
ห้องข่าวของ AAIC 2024: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
แฮชแท็ก AAIC 2024: #AAIC24
เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์
สมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association®) เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งอุทิศตนให้กับการดูแลรักษา การสนับสนุน และการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทรสายด่วน 800.272.3900
- ดร.นพ. Sebastian Palmqvist และคณะ การประเมินการใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือดสำหรับโรคอัลไซเมอร์ ทั้งในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ (Evaluation of the prospective use of blood biomarkers for Alzheimer’s disease in primary and secondary care) (ผู้ให้ทุน: Alzheimer’s Association และ National Institute of Aging)
- ดร. Gemma Salvadó และคณะ การใช้ plasma p-tau217 เป็นวิธีคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาผลบวกของ amyloid-PET ในผู้เข้าร่วมที่ยังไม่มีอาการทางสมอง: การศึกษาแบบหลายศูนย์ (ผู้ให้ทุน: Alzheimer’s Association, European Union’s Horizon 2020 Research and Innovation Program under Marie Sklodowska-Curie action, Alzheimerfonden, Strategic Research Area MultiPark)
- ดร.นพ. Soeren Mattke และคณะ ผลลัพธ์ของการตรวจเลือดประสิทธิภาพสูงต่อระยะเวลารอการพิจารณาคุณสมบัติสำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคในสหรัฐอเมริกา (ผู้ให้ทุน: C2N Diagnostics)
*** ข่าวประชาสัมพันธ์จากงาน AAIC ประจำปี 2567 หรือ AAIC 2024 อาจมีข้อมูลล่าสุดที่อาจไม่ตรงกับรายละเอียดที่ระบุไว้ในบทคัดย่อต่อไปนี้
โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/2470275/AAIC24_rgb_Logo.jpg?p=medium600
The information provided in this article was created by Cision PR Newswire, our news partner. The author's opinions and the content shared on this page are their own and may not necessarily represent the perspectives of Thailand Business News.
Discover more from ข่าวธุรกิจประเทศไทย
Subscribe to get the latest posts sent to your email.